วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

 โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย


             โครงการท่อก๊าซไทย- มาเลเซียนั้น เป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการที่จะนำก๊าซธรรมชาติในเขตพัฒนาร่วม ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย กับมาเลเซีย โดยที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินส่วนนี้ และในปี พ.ศ.๒๕๒๒ สมัยรัฐบาลของ พลเอกเกรียงศักด์ ชมะนันท์ ก็ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ และตกลงจัดองค์กรร่วมดูแลการสำรวจและการแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่ โดยในโครงการนี้ฝ่ายไทยคือ ปตท.(การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) และฝ่ายมาเลเซียคือเปโตรนาส จะเป็นผู้ลงทุนในฐานะผู้ซื้อมูลค่ากว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยวางท่อก๊าซจากทะเลยาว ๒๕๕ กิโลเมตร มาขึ้นฝั่งและเข้าโรงแยกก๊าซที่ อ.จะนะ และวางท่อก๊าซต่อไปยังชายแดนมาเลเซีย ที่ อ.สะเดา โดยมีท่อบนบกยาวประมาณ ๘๕ กิโลเมตร และฝั่งมาเลเซียยาว ๙ กิโลเมตร โดยท่อบนบกผ่าน อ.จะนะ นาหม่อม หาดใหญ่ และสะเดา  พื้นที่เจดีเอ หรือพื้นที่ทับซ้อน เป็นพื้นที่เหลื่อมล้ำบริเวณริมใหล่ทวีปในอ่าวไทย มีขนาด ๗๕๐๐ ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจคาดว่าปริมาณก๊าซสำรองก๊าซธรรมชาติน่าจะสูงเกือบถึง ๑๐๐ ล้านล้าน ลบ.ฟ. คิดเป็นมูลค่ากว่า ๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเลยทีเดียว 
   
 ความเคลื่อนไหวของประชาชนต่อโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย





มีประเด็นสำคัญ ๖ ประเด็นที่ใช้เป็นเหตุผลหลักในการคัดค้านโครงการท่อก๊าซ คือ

1) ความไม่ชอบธรรม ไม่ชอบมาพากล และไม่ชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการตัดสินใจที่นำมาสู่โครงการนี้ ในข้อตกลงเดิมพ.ศ.๒๕๓๙ ทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซียจะวางท่อนำก๊าซจากแหล่งนี้ไปใช้โดยตรง ไม่ต้องวางท่อผ่านประเทศใดเลย ในส่วนของไทยจะวางท่อขึ้นทางเหนือของอ่าวไทยไปอีกเพียง ๕๐ ก.ม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบท่อที่มีอยู่แล้ว จนถึงปัจจุบัน เมื่อแผนวางท่อก๊าซได้เปลี่ยนไปแล้ว โครงการวางท่อขึ้นเหนือนี้ก็ยังอยู่ ฉะนั้นไม่ว่าโครงการวางท่อก๊าซใหม่โดยผ่านจังหวัดสงขลาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ไทยก็ยังได้ใช้ก๊าซจากหลุมที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันนี้อยู่นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม แผนของมาเลเซียที่จะวางท่อขึ้นฝั่งประเทศของตนได้เปลี่ยนไปในพ.ศ.๒๕๔๐ โดยทางฝ่ายไทยให้ความร่วมมืออย่างกระตือรือร้น ทั้งๆ ที่การนำเอาก๊าซขึ้นฝั่งไทยตามโครงการนี้ ไทยจะได้ใช้ก๊าซมากที่สุดเพียง ๑๒% ส่วนที่เหลือ ๘๘% ต้องส่งตามท่อไปยังฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย แม้กระนั้นไทยกลับยินยอมร่วมลงทุนในโครงการนี้ถึง ๕๐% แผนใหม่ที่จะนำก๊าซขึ้นฝั่งไทยนั้นมาพร้อมกับแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะใช้ก๊าซเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) ในพื้นที่ และใช้ป้อนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่สองโรง แต่เมื่อประชาชนพากันคัดค้านโครงการเพราะเกรงผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งจะทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชนดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรก็ประกาศว่าโครงการนี้จะมีเพียงโรงแยกก๊าซเท่านั้น ไม่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องแต่อย่างใด หากเป็นไปจริงตามคำประกาศของท่านนายกรัฐมนตรี ไทยจะได้ใช้ก๊าซจากโครงการนี้เพียง ๑% เท่านั้น 

โครงการนี้ตัดสินใจทำโดยการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ยังไม่ผ่าน รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับการรับรองอย่างรวบรัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) ไม่ใช่โดยคณะกรรมการซึ่งสผ.แต่งตั้งขึ้น อันเป็นการรับรองที่ผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมปี ๒๕๓๕ ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำทางการปกครองที่ผิดอีกเช่นกัน โดยรัฐอ้างว่าหากดำเนินการล่าช้าประเทศไทยต้องเสียค่า "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" แต่จากเอกสารของปตท.ที่มีถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ที่๕๒๐/๑๑/๔๖๔) ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าไทยไม่ต้องเสียค่า "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" อันเนื่องจากการอนุมัติอีไอเอล่าช้า ได้มีประชาชนจำนวนมากคัดค้านโครงการนี้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างโปร่งใส ขั้นตอนประชาพิจารณ์ก็ไม่เป็นกลางและรวบรัดตัดสินใจโดยใช้เวลาทำประชาพิจารณ์เพียง ๒๕ นาที วุฒิสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติศึกษาโครงการนี้และเสนอให้รัฐทบทวนโครงการ ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งรัฐแต่งตั้งขึ้นเองก็เรียกร้องให้รัฐทบทวนโครงการ ในขณะที่มีข้อสงสัยและความเห็นแย้งโครงการจากหลายแหล่งเช่นนี้ กลับมีการปิดกั้นสื่อด้วยอำนาจการซื้อโฆษณาและซื้อพื้นที่ในสื่อเพื่อสนับสนุนโครงการอย่างหนัก ฉะนั้นสังคมไทยจึงตกอยู่ในความมืด ถึงจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับโครงการก็ทำไปโดยปราศจากข้อมูลและข้อเท็จจริงจำนวนมาก 


2) ประเด็นเรื่องพลังงาน ภาพรวมของพลังงานในประเทศไทยขณะนี้ พลังงานก๊าซล้นเหลือ พลังงานไฟฟ้าล้นเหลือ เวลานี้เรายังต้องจ่ายเงินค่าก๊าซที่นำจากพม่าโดยไม่ได้ใช้อยู่ทุกวัน ซึ่งในที่สุดก็เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามารวมอยู่ในค่า FT ให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจแบกภาระ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไทยแพงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกต่ำลง ฉะนั้นโครงการนี้จึงไม่ได้มีความจำเป็นในแง่พลังงานของประเทศในยามนี้ ในช่วงที่เรายังมีพลังงานล้นเหลือเช่นนี้ รัฐน่าจะนำเอาเงินที่จะลงทุนในโครงการนี้มาลงทุนกับพลังงานทางเลือกแทน ซึ่งน่าจะเป็นอนาคตของพลังงานของชาติมากที่สุด 

3) ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ สัญญาขุดเจาะก๊าซที่ทำกับมาเลเซียนั้นสร้างความเสียเปรียบแก่ฝ่ายบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(ปตท.สผ.)อย่างมาก โดยเปรียบเทียบแล้วบริษัทเปอโตรนัสจะได้กำไรร้อยละ ๑๐ ส่วนปตท.สผ.จะได้รับเพียงร้อยละ ๓.๙ หากประมาณเป็นเงินคือบริษัทมาเลเซียจะได้ ๘ หมื่นกว่าล้านบาท ในขณะที่ปตท.สผ.จะได้เพียง ๓ หมื่นกว่าล้านบาท เนื่องจากในแปลงที่มีก๊าซมากที่สุด(คือA-๑๘ ซึ่งมีก๊าซถึง๗๒%ของพื้นที่ร่วมเจดีเอ) ปตท.สผ.ไม่มีส่วนในการขุดเจาะจึงไม่ได้รับส่วนแบ่งกำไร ในขณะที่มาเลเซียเป็นผู้ขุดเจาะจะได้กำไรร้อยละ๑๐ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความคุ้มทุนของโครงการนี้ที่น่าสนใจอยู่สามประการคือ 

ก) นับแต่เมื่อโครงการนี้เริ่มมีผล (๒๕๔๔) ต่อไปอีก ๑๐ ปี เศรษฐกิจไทยยังไม่อยู่ในภาวะที่จะใช้ประโยชน์จากก๊าซที่เจาะมาได้มากนัก เปรียบเทียบกับมาเลเซียแล้ว เขาจะสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากระยะเริ่มต้น 
ข) ค่าผลตอบแทนของโครงการเมื่อคำนวณตลอดอายุโครงการ ๒๗ ปี เทียบกับผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทดแทนการนำเข้าน้ำมันเตา จะมีค่าเท่ากับ ๑.๔% เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน 
ค) ราคาก๊าซปากหลุมที่ไทยต้องจ่ายในกรณีนี้มีราคาสูงกว่าแหล่งก๊าซในอ่าวไทยส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าคิดจากราคาที่ผู้ใช้ปลายทางต้องจ่ายที่สงขลาและมาบตาพุดแล้ว ก็จะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีกมาก 

4) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะสั้นโรงงานแยกก๊าซ และอาจรวมถึงโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งไม่ชัดเจนนักว่าจะเกิดตามมาหรือไม่ จะทิ้งน้ำหล่อเย็นลงสู่ทะเล เป็นผลให้สูญเสียลูกกุ้งลูกปลาในทะเลซึ่งเป็นแหล่งประมงอันอุดมสมบูรณ์เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ต้องแย่งกันใช้น้ำจืดจากลุ่มน้ำอู่ตะเภา ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างเขื่อนหรือเก็บกักน้ำจืดที่จะไหลลงทะเลสาบสงขลา จะทำให้น้ำจืดขาดแคลนขยายเป็นวงกว้าง รวมถึงตัวเมืองหาดใหญ่ด้วย ในขณะเดียวกันก็จะทำให้น้ำในทะเลสาบเค็มมากขึ้น การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ละเอียดพอ เช่นไม่ทราบปริมาณสารปรอทที่อาจเกิดขึ้นจากหลุมเจาะ มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารปรอทในอ่าวไทยพบว่า สารปรอทเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญในสัตว์ทะเลบริเวณแท่นเจาะก๊าซกลางอ่าวไทยเป็นต้น นอกจากนี้การวางท่อยังก่อให้เกิดตะกอนซึ่งกระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์และพืชในทะเลและบนบก ส่วนปัจจัยด้านความปลอดภัยก็มีความสำคัญ ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยแนวท่อก๊าซอย่างไร โครงการนี้จะมีผลกระทบอย่างไรด้านสังคมต่อชุมชนทั้งในจุดที่ท่อก๊าซขึ้นฝั่งและแนวท่อก๊าซก็ยังไม่มีการศึกษา การแยกก๊าซมีผลต่อคุณภาพของอากาศในบริเวณนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ จะมากน้อยเพียงใดยังไม่มีการศึกษาที่ระบุได้ละเอียด ก่อให้เกิดความกังวลแก่ประชาชนแถบจะนะซึ่งมีอาชีพในการเลี้ยงนกเขา 

5) ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ จากการสำรวจความเห็นของประชาชนสงขลาปรากฏในรายงานการศึกษาผลกระทบสังคมและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ๘๐% ของประชาชนเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นผลลบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ๕๙% ต้องการให้โครงการนี้ยุติลงเสีย ๘๙% มีความพอใจกับสภาพชีวิตของตนเองอยู่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าโครงการวางท่อก๊าซนี้ไม่ว่าจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม ไม่ใช่แนวทางการพัฒนาที่ประชาชนเลือก ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่มีวิถีชีวิตในเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ ทำประมงชายฝั่งท่ามกลางระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ (มีเรือประมงกว่า ๓,๐๐๐ ลำ) เพราะเป็นทำเลห่วงโซ่อาหารที่อุดมสมบูรณ์มาก ประชาชนอีกส่วนหนึ่งทำอาชีพเกษตรกรรมซึ่งให้ผลผลิตพอเลี้ยงตัวได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น นอกจากนี้ภาคใต้ทั้งสองฝั่งยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวซึ่งสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ฉะนั้นจึงน่าจะทะนุถนอมให้มีโอกาสเติบโตไปในทิศทางที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แทนที่จะใช้เป็นพื้นที่วางท่อก๊าซซึ่งไทยก็แทบไม่ได้ใช้ ซ้ำกลับเป็นผู้รับผลกระทบในทางลบเสียเองเป็นอันมาก 

6) สันติวิธี การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีย่อมเป็นสิ่งที่อารยชนทั่วไปต้องการ แต่เราควรมองสันติวิธีให้กว้างกว่าความรุนแรงที่มุ่งจะกระทำต่อวัตถุ และครอบคลุมถึงความรุนแรงที่กระทำต่อชีวิตจิตใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คน การบิดเบือนความจริง หรือแม้แต่การปิดบังความจริงก็ตาม การไม่เปิดโอกาสอันเท่าเทียมกันให้แก่ทุกฝ่ายในการถกเถียงกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงก็ตาม การใช้สัญลักษณ์แห่งอำนาจ (เช่นคนในเครื่องแบบ) เพื่อข่มขู่คุกคามก็ตาม ล้วนเป็นการละเมิดต่อสันติวิธีทั้งสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้ความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง



ผลกระทบทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่
ความขัดแย้ง อันเกิดจากการดำเนินโครงการดังกาล่าวมีผลกระทบต่อสังคมวัฒนธรรมของคนใต้ในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. กระทบความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติ คนใต้ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีค่านิยมรักพวกพ้อง เครือญาติอย่างเข้มข้นมีภูมิปัญญาในการสร้างเครือข่ายเครือญาติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การผูกเกลอ การผูกดอง เป็นต้น ระบบความ สัมพันธ์ดังกล่าว เคยสร้างความมั่นคงในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากการรังแก คุกคามของคนต่างกลุ่มต่างพวกได้เป็นอย่างดี กระบวนการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว มีส่วนในการทำลายระบบความสัมพัธ์แบบเครือญาติของชุมชน ในพื้นที่โครงการโดยการเสนอผลประโยชน์ อามิส บางอย่างเป็นเหยื่อล่อ เช่น การบริการด้านสาธารณสุข การแจกทุนการศึกษาแก่นักเรียนในเขตพื้นที่โครงการ การนำไปทัศนศึกษาโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช หรือโรงแยกก๊าซที่มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นต้น ทำให้เครือญาติมีความบาดหมางกัน แบ่งเป็นพวกเขาพวกเรา
2. ผลกระทบระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสันติ สงบสุขตามประสาของชุมชนชนบททั่วไป แต่หลังจากมีการเคลื่อนไหวของโครงการดังกล่าวทำให้ชุมชนเกิดความแตกแยก แตกความสามัคคีอันเป็นผลมาจากการดำเนินการของคณะทำงานประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจและการทำประชาพิจารณ์แบบมัดมือชก
3. ทำลายความศรัทธาของชาวบ้านต่อระบบราชการ การดำเนินโครงการทุกขั้นตอนตั้งแต่การลงนามในสัญญา ร่วมลงทุน การประชาสัมพันธ์ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการทำประชาพิจารณ์ล้วนทำลายความเชื่อมั่น ศรัทธาของชาวบ้านต่อระบบราชการ ที่มีน้อยอยู่แล้วให้หมดไป กลายเป็นความเกลียดชัง เพราะชาวบ้านมีความรู้สึกว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีความจริงใจในการดำเนินการ มีการใส่ร้ายป้ายสีชาวบ้านต่างๆ นา ๆ และบิดเบือนข้อเท็จจริง จนชาวบ้านไม่ยอมเชื่อคำพูดและข้อมูล ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายรัฐบาลทุกกรณี
4. ทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การตัดสินใจดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยใช้วิธีประชาพิจารณ์ และการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของชุมชนและท้องถิ่น ฯลฯ เป็นการกระทำที่สวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับชาวบ้าน ที่พยายามจะพิทักษ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในทางการเมือง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล สร้างความอคติให้ชาวบ้านต่อรัฐบาลอย่างรุนแรงจนยากที่จะคลี่คลายลงไปได้ด้วยดี
5. สร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา เนื่องจากโครงการดังกล่าวดำเนินการในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมเป็น คนส่วนใหญ่ และเมื่อเกิดเสียงคัดค้านและมีความรุนแรงเกิดขึ้นในทำนองว่า "มึงสร้าง กูเผา" "ประชาพิจารณ์เลือด" หรือ "ธันวาทมิฬ" ทำให้คนใต้ที่เป็นไทยพุทธบางส่วนเกิดความคิดเห็นว่า ชาวไทยมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศมีนิสัยนิยมความรุนแรง และชอบให้รัฐบาลเอาใจตนจนเคยตัว ประกอบกับสถานการณ์ในทางสากลที่เกิดความรุนแรง โดยมีชาวมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น กรณีก่อวินาศกรรมสหรัฐอเมริกา สงครามอ่าวเปอร์เซีย และความรุนแรงในตะวันออกกลาง ยิ่งทำให้ชาวไทยพุทธมองไทยมุสลิมด้วยสายตาที่มีอคติยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีความรุนแรงใน 4 จังหวัดภาคใต้ ที่ถูกมองว่า ความวุ่นวายมาจากชาวมุสลิมทั้งขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดนและ "โจรแขก" ธรรมดาเป็นกลุ่มหลัก


6. ทำลายหลักการสำคัญของการใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายในสังคม การใช้กฎหมายมีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการคือ 1) การใช้กฎหมายในทางทฤษฎี คือการนำกฎหมายไปใช้กับบุคคลในเวลาและสถานที่หรือ เหตุการณ์หรือเงื่อนไข เงื่อนเวลาหนึ่ง ๆ โดย สัมพันธ์กับการร่างกฎหมายและเป็นการว่างหลักเบื้องต้น 2) การใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ คือการนำตัวบทกฎหมายไปปรับใช้แก่คดีหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเจาะจงเพื่อหาคำตอบหรือเพื่อวินิจฉัยพฤติกรรมของบุคคลในเหตุการณ์ต่าง ๆ ข้อจำกัดของการใช้กฎหมาย ในทางทฤษฎีขึ้นอยู่กับหลักบางประการ ได้แก่ หลักในระบอบประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน หลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักความเป็นธรรม เพื่อป้องกันมิให้มีการร่างหรือใช้กฎหมาย อย่างไม่เป็นธรรม หลักการใช้กฎหมายต้องยึดหลักยุติธรรมหรือหลักความเป็นธรรมเป็นสำคัญ การใช้ดุลยพินิจ เป็นสิ่งสำคัญสุดยอดข้อหนึ่ง ในการอำนวยความยุติธรรม แต่ต้องใช้ดุลยพินิจไปในทางที่สอดคล้องต่อมโนธรรม ศีลธรรมและความต้องการของสังคม
ปัญหาการใช้กฎหมายในกรณีผู้ต้องหาเป็นแกนนำ ในการคัดค้านโครงการท่อก๊าซเกิดจากการไม่ใช้ดุลยพินิจ หรือใช้ดุลยบพินิจที่ไม่สอดคล้องกับมโนธรรม ศีลธรรมและความต้องการของสังคม ดังความเห็นของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเชียงใหม่ ที่ว่า "การที่รัฐบาลจะดำเนินคดีกับแกนนำผู้คัดค้านถือว่า เป็นการใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ซื่อตรงต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผิดหลักนิติศาสตร์และนิติธรรม เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย อยู่ที่การธำรงความสงบสุขของสังคม ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า การใช้กฎหมายดำเนินการกับแกนนำผู้คัดค้านอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนจำนวนมากกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ" เนื่องจากไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดอย่างไร จะมีแต่ความร้าวฉานระหว่างประชาชนด้วยกันและ ประชาชนกับเจ้าหน้าที่

7. ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน สื่อมวลชนหลายสาขา ทั้งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ที่ได้รับประโยชน์จากการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ของฝ่ายเจ้าของโครงการ ต่างถูกชาวบ้านพิพากษาว่าไม่มีความเป็นกลาง ไม่น่าเชื่อถือ และไม่ให้ความเป็นธรรม การต่อสู้ของชาวบ้าน ตกเป็นเครื่องมือของ ปตท. และรัฐบาล บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน่าเกลียดที่สุด แต่จะอย่างไรก็ตาม อ.สุภาคย์ อินทองคงมหาวิทยาลัยทักษิณ มองในแง่ดีว่า โครงการมีส่วนช่วยให้คนในพื้นที่ดังกล่าว ได้เรียนรู้เรื่องราวสังคมอย่างน้อย 6 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
1. ได้เรียนรู้ว่ากระบวนการจัดทำโครงการใหญ่ ๆ เขาทำกันอย่างไร โดยมีผลได้ผลเสียอย่างไร
2. ได้เรียนรู้ว่า ประชาขนในฐานะเจ้าของพื้นที่ และมีสิทธิที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ภาคประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง
3. ได้เรียนรู้ว่า บุคคลที่ประชาชนมีฉันทานุมัติให้ถืออำนาจรัฐนั้น ในทางปฏิบัติการใช้อำนาจเขาคิดและทำอย่างไรกับประชาชน
4. ได้เรียนรู้ว่า "สามัคคีเภท" ในชุมชนรวมทั้งในชาติในอดีตถึงขั้นต้องเสียบ้านเสียเมืองนั้น เขามีกระบวนการ
สร้างความสามัคคีเภทกันอย่างไร และผลของสามัคคีเภทใครจะเป็นผู้ได้รับและได้อะไร
5. ได้เรียนรู้ว่า ผู้นำทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นนั้น ส่วนหนึ่งเขามิได้มองเห็นว่า ประชาชนคือผู้ถือหุ้นส่วนสำคัญของประเทศนี้
6. ได้เรียนรู้ว่า บุคคลที่เรียกตนเองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ในพื้นที่จังหวัดสงขลาและปฏิบัติงานในหน้าที่ตัวเทนอยู่นั้น เมื่อประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ตนเดือดร้อน คนเหล่านั้นมิได้มายืนเคียงข้างประชาชนแต่อย่างใด

บทวิเคราะห์
         จากข้อมูลต่างๆที่ผมได้รวบรวมและจัดทำขึ้นมาจะเห็นได้ว่าในการสร้างท่อก๊าซไทย-มาลเซียขึ้นมานั้น ต้องประสบกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆมากมาย การสร้างจึงต้องกินเวลาถึงหลายทศวรรษนับตั้งแต่เริ่มคิดโครงการขึ้นมา หลายฝ่ายมองถึงเรื่องผลประโยชน์ และอีกหลายฝ่ายก็มองถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้นหากจะนำตรงจุดนี้มาชี้วัดว่าฝ่ายใดผิดหรือถูกคงจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็มองต่างมุมกัน
         ฉะนั้นในการที่จะทำให้ถูกใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคงจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับความคิดเห็นของผมนั้น คิดว่าควรจะใช้การประสานผลประโยชน์ มาพบกันคนละครึ่งทาง อาจจะเป็นการลดการใช้พื้นที่ของการวางท่อก๊าซเพื่อลดการทำลายพื้นที่ทางธรรมชาติ และจำกัดเขตพื้นที่ที่เสี่ยงต่อผลกระทบ หรือกำหนดระดับมลภาวะให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตของระบบนิเวศ เป็นต้น
        ไม่ว่าจะดำเนินโครงการใดๆก็ตาม ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อธรรมชาติ ฉะนั้นก่อนที่จะดำเนินสิ่งใดๆลงไปจึงควรมองถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ





3 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่ดีมากครับ ขอเอาไปทำรายงานครับ ขอบคุณครับ ^^

    ตอบลบ
  2. ใช้ได้ เนื้อหาดี
    ลองตกแต่งใหม่ ให้เนื้อหาดูว่าเป็นบอร์ดของเราแบบว่ามี สไต ในการเขียน blog เป็นของตนเองเป็น สไต ของเรา แนวการจัดวางภาพเป็นแบบเราเอง เพิ่ม เครดิตหน่อย เจ๋งวะงาน กอง บอ

    ตอบลบ
  3. เนื้อหาดีมากเลยครับ

    ได้ความรู้ใหม่ ๆ เพียบเลย

    ตอบลบ